สิทธิเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องรู้ ต้องเข้าใจ เพื่อจะได้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง จะได้รักษาสิทธิของตัวเองพร้อมกันไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นไปด้วย เพื่อให้เข้าใจเรื่องดังกล่าว เราขอพาทุกคนไปดูรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 2560 ว่าเค้ากำหนดเกี่ยวกับสิทธิของประชาชนไว้ว่าอย่างไรบ้าง เรื่องนี้ถูกกำหนดไว้ที่หมวด 3 มีมาตราน่าสนใจดังนี้
มาตรา 27
มาตรานี้น่าสนใจมาก เนื่องจากมาตรานี้สาระสำคัญอยู่ที่ความเท่าเทียมกัน มาตรานี้บอกไว้เลยว่าบุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันตามกฎหมาย ได้รับเสรีภาพ ความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกันทุกประการ เท่าเทียมกันทางเพศชายและหญิง อีกทั้งยังมีการกำหนดให้พนักงาน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไปด้วย จะมีข้อสังเกตุตรงเรื่องเพศที่น่าจะเปิดกว้างสำหรับเพศทางเลือกด้วย
มาตรา 34
มาตรานี้ก็น่าสนใจ มาตร 34 จะพูดเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็น การพูด เขียน พิมพ์ โฆษณา ไปจนถึงการสื่อความหมายด้วยวิธีอื่น อย่างไรก็ตามมันก็ไม่ได้เสรีภาพไปซะหมด เนื่องจากได้มีการบัญญัติเพิ่มเติมไว้ว่าหากมีเหตุด้านความมั่นคง หรือ รักษาความมั่นคงก็อาจจะต้องจำกัดเสรีภาพดังกล่าวได้ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชนเอาไว้ ตรงนี้แหละหากมองอีกมุมหนึ่งก็แปลความได้หลายอย่างเหมือนกัน
มาตรา 36
อีกหนึ่งมาตราที่ดูเหมือนจะมีสิทธิ แต่กลับมีบางอย่างซ่อนอยู่นั่นคือ มาตรา 36 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพเกี่ยวกับการสื่อสาร บัญญัติให้เราสามารถสื่อสารกันได้อย่างมีเสรีภาพ แต่หากมีหมายศาล หรือ เหตุอย่างอื่นตามกฎหมายบัญญัติรัฐก็สามารถเข้าไปตรวจ กัก หรือ เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้ ฟังดูแล้วเหมือนจะไม่เสรีภาพจริงยังไงก็ไม่รู้
มาตรา 44
มาตรานี้ เราอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง แต่อันนี้มันคนละเรื่องกับอาวุธของรัฐบาลนะ มาตรานี้บอกถึงเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธอันตราย แม้จะสามารถทำได้แต่รัฐสามารถจำกัดสิทธิ์ดังกล่าวได้ ถ้าหากต้องทำเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพบุคคลอื่น รวมถึงหากมองว่ารัฐไม่ปลอดภัยก็สามารถจำกัดสิทธิ์ดังกล่าวได้
มาตรา 47
มาตรานี้ว่าด้วยเรื่องสาธารณสุข การเจ็บป่วย เค้าบอกว่าทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการบริการด้านสาธารณสุขจากรัฐ ไม่เพียงเท่านั้นหากเราเป็นคนผู้ยากไร้ ย่อมได้รับสิทธิไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายบริการของรัฐด้วย (แต่การเป็นคนยากไร้ต้องผ่านตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้)
นอกจากนั้นกฎหมายในหมวดนี้จะบอกถึงสิทธิในการดำเนินชีวิตของเราว่ามีเสรีภาพในการทำอะไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็น ประกอบอาชีพ, การศึกษา, การตั้งพรรคการเมือง ฯลฯ อย่างไรก็ตามสิทธิทุกอย่างก็ไม่ได้เสรีภาพแบบ 100% จะมีการห้อยท้ายเพื่อจำกัดเสรีภาพจากเงื่อนไขพิเศษด้วย